ยาฮูเปิดตัว Cocktails เฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนา "แอพ" ที่ฉีกแนวคิดแบบเดิมๆ ทิ้งไป
เดิมทีเฟรมเวิร์คสำหรับการพัฒนาแอพ มักใช้กับ "เว็บแอพ"
หรือแอพที่ทำงานบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (เช่น Ruby on Rails)
แต่ภายหลังเราก็เห็นเฟรมเวิร์คสำหรับภาษาจาวาสคริปต์
ที่ออกแบบมาทำงานบนฝั่งไคลเอนต์มากขึ้น (เช่น jQuery)
แต่ Cocktails ของยาฮูกลับแนวคิดนี้เสียใหม่
โดยสร้างเฟรมเวิร์คภาษาจาวาสคริปต์ที่โค้ดชุดเดียวกัน
สามารถรันได้ทั้งบนไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์
แถมการทำงานบนไคลเอนต์ยังไม่จำกัดเฉพาะภายในเบราว์เซอร์ แต่ขยายไปยัง
iPad/iPhone ได้ด้วย
Cocktails มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ Mojito และ Manhattan
Mojito
คือเฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาแอพแบบที่หลายคนคุ้นเคย มันพัฒนาต่อจาก Node.js
แต่ก็เพิ่มเทคโนโลยีเว็บตัวอื่นๆ อย่าง HTML5/CSS3
และเทคโนโลยีของยาฮูเองอย่าง YUI/YQL เข้ามาด้วย
สรุปว่ามันขยายจากเฟรมเวิร์คจาวาสคริปต์เพียงอย่างเดียว
มาเป็นเฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาแอพ (ที่ใช้เทคโนโลยีเว็บ) เต็มรูปแบบ
แอพที่สร้างด้วย Mojito สามารถทำงานได้ทั้งบนเบราว์เซอร์ตามปกติ
หรือจะนำไปรันบนอุปกรณ์พกพาอื่นๆ ก็ได้ ในเบื้องต้นยาฮูบอกว่าจะรองรับ iOS
และ Android ก่อน
Manhattan เป็นส่วนเสริมสำหรับแอพที่สร้างด้วย Mojito
ในกรณีที่ต้องการนำไปรันบนเซิร์ฟเวอร์ (การรันบนเซิร์ฟเวอร์อาจมีหลายเหตุผล
เช่น ไคลเอนต์ไม่รองรับจาวาสคริปต์ หรือ ต้องการพลังประมวลผลที่มากขึ้น)
Manhattan จะช่วยนำแอพไปประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์
(เบื้องต้นคือกลุ่มเมฆของยาฮู) และส่งมายังไคลเอนต์ต่อให้
ยาฮูสร้างเทคโนโลยี Cocktails
ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากของนักพัฒนาแอพยุคใหม่
ที่ต้องทำแอพลงหลายแพลตฟอร์ม การที่ใช้โค้ดชุดเดียวรันได้บนอุปกรณ์หลายตัว
ย่อมทำให้งานของนักพัฒนาง่ายขึ้น
แอพตัวแรกที่สร้างด้วย Cocktails คือ Yahoo! Livestand แอพนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์บน iPad ที่เคยเปิดตัวไปแล้ว (
ข่าวเก่า) และเพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเร็วๆ นี้
ยาฮูบอกว่าจะพัฒนา Cocktails ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วจะเปิดซอร์สส่วนของ
Mojito ในไตรมาสแรกของปี 2012 และเปิดซอร์ส Manhattan ตามมาหลังจากนั้น
วิดีโอสาธิตการทำงานของ Cocktails ดูได้ตามลิงก์ที่มาครับ (embed ไม่ได้)
ที่มา -
Yahoo! Developer Network